ชื่อมาตรฐาน : ความสำคัญของระบบการตรวจสอบ และรับรองต่อการค้าโลก

nac1
  



ความสำคัญของระบบการตรวจสอบ
และรับรองต่อการค้าโลก

 



         จากการรวมกลุ่มทางการค้าของประเทศต่างๆ ในนามขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกถึง 148 ประเทศ ทำให้การพัฒนาระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นสาเหตุให้ประเทศสมาชิก WTO หันมาจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในลักษณะทวิภาคี (Bilateral) และพหุภาคี (Multilateral) ซึ่งกลุ่มความร่วมมือดังกล่าวมักถูกเรียกว่าเขตการค้าเสรี (Free Trade Area, FTA) เขตการค้าเสรีเป็นเขตที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้าและการลงทุนแก่ประเทศที่เข้าร่วมโดยไม่ขัดกับกฎเกณฑ์ของ WTO ทำให้มีการขยายเขตการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก

         สำหรับประเด็นหลักในการเจรจาเปิดการค้าเสรีคือ การลดภาษีนำเข้าระหว่างกัน กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) และการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers, NTBs) สำหรับประเทศไทยปัญหาการกีดกันทางการค้าเป็นปัญหาหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากการกีดกันทางการค้าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

         การเจรจาเพื่อจัดทำเขตการค้าเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ เป็นการเจรจาเพื่อยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีและมิใช่ภาษี (Tariff and Non-Tariff Barriers) ซึ่งการเจรจาเพื่อยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าด้านมิใช่ภาษี ส่วนหนึ่งจะเป็นการเจรจาในเรื่องมาตรการเกี่ยวกับอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade, TBT) ซึ่งเป็นมาตรการในการกำหนดกฎระเบียบทางด้านเทคนิคและมาตรฐานสินค้า รวมถึงการทดสอบ การตรวจสอบ และการรับรอง นั่นหมายถึงว่าสินค้าจะสามารถนำเข้าได้ถ้าสินค้านั้นเป็นไปตามมาตรฐานที่ประเทศนำเข้ากำหนด เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าต้องมีเอกสารแสดงคุณภาพตามที่กำหนด เช่น ต้องมีใบรับรอง (Certificates of compliance) รายงานผลการทดสอบ (Test report) เป็นต้น

         ดังนั้นผู้ผลิตและผู้ส่งออกจำเป็นต้องรู้ว่ามาตรฐานฉบับปัจจุบันที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เป็นกฎระเบียบคืออะไร สำหรับปัญหาที่เกิดจาก TBT ในปัจจุบันคือ มีการกำหนดกฎระเบียบทางด้านเทคนิคและมาตรฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบกับการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ส่งออก เช่น ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น สำหรับการเตรียมการของไทยในเรื่องของ NTB คือ ไทยอาจจะมีการเจรจาขอยกเลิกการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี โดยเสนอให้ใช้มาตรการยอมรับร่วมกันในมาตรฐานและการตรวจสอบทั้งสองฝ่าย (Mutual Recognition Arrangements, MRAs)

MRAs คืออะไร
         MRAs หรือ Mutual Recognition Agreement เป็นความตกลงร่วมระหว่างสองฝ่ายขึ้นไปในการยอมรับร่วมในเรื่องต่างๆ เช่น การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจครอบคลุมถึงรายงานผลการทดสอบหรือใบรับรอง

         MRAs ในแง่ของการตรวจสอบและรับรอง หมายถึงความตกลงร่วมในระดับทางเทคนิคหรือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล การยอมรับร่วมทางด้านเทคนิคหมายความรวมถึงการยอมรับร่วมระหว่าง technical bodies เช่น ห้องปฏิบัติการทดสอบ หน่วยตรวจสอบ หน่วยรับรองและหน่วยรับรองระบบงาน ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในความสามารถทางเทคนิคของหน่วยงานที่ทำ MRA ในกิจกรรมการตรวจสอบและรับรองเฉพาะด้าน การยอมรับร่วมในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล จะหมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายใต้กรอบข้อตกลง คู่เจรจาที่ทำความตกลงการยอมรับร่วมต้องยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนดด้านกฎหมายของตนเองด้วย 

 

MRAs อำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศอย่างไร
         จากการทำ MRAs ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการทดสอบและได้รับการรับรองก่อนการส่งออก สามารถเข้าสู่ประเทศนำเข้าได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบและรับรองซ้ำจากประเทศนำเข้า

สถิติผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ เริ่มนับ 10 พ.ค. 2565