ประวัติ สมอ.

งานด้านการมาตรฐานในประเทศไทยเริ่มใน พ.ศ. 2446 (ร.ศ.122) เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติเงินตรารัตนโกสินทร์ศก 122 ขึ้น ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่มีกฎเกณฑ์ ในการทำเหรียญกษาปณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการนี้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดตั้งกองแยกธาตุ เพื่อวิเคราะห์ควบคุมคุณภาพของเนื้อเงินที่ใช้ทำเหรียญกษาปณ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

กิจการอุตสาหกรรมในประเทศไทย เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากประเทศไทย อยู่ในภาวะขาดแคลนผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องผลิตขึ้นเองภายในประเทศ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทย กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เริ่มบริการออกหนังสือรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมที่ผลิตภายในประเทศในปี พ.ศ. 2482 โดยอาศัย มาตรฐานของต่างประเทศ หรือเอกสารข้อแนะนำขององค์กรระหว่าง ประเทศ หรือมาตรฐานของผู้ผลิตที่กรมวิทยาศาสตร์ยอมรับเป็นเกณฑ์ ในการพิจารณาให้ใบรับรอง โดยผู้ประสงค์จะขอหนังสือรับรอง คุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตในประเทศจะต้องยื่นคำขอ ที่กรมวิทยาศาสตร์ พร้อมตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และค่าธรรมเนียมกรมวิทยาศาสตร์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจกรรมวิธีผลิต และวิธีควบคุมคุณภาพของโรงงานพร้อมทั้งขอเก็บตัวอย่างใหม่ ในเวลาใกล้เคียงกันก็จะซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันจากท้องตลาด เพื่อเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ทดสอบอีก หากผลการวิเคราะห์ทดสอบ ตัวอย่างทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว ปรากฏว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานก็จะออกหนังสือรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ว่ามีคุณภาพ "ใช้ได้" หรือ "ดี" หากผลการวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 3ประเภทดังกล่าว ปรากฏว่ายังไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน ก็จะแจ้งผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน

มาตรฐานของต่างประเทศที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในประเทศในช่วงเวลานั้น ยังมีข้อขัดข้องบางประการ เช่น มีความไม่เหมาะสมในสภาพดินฟ้าอากาศที่แตกต่างกับของประเทศไทย หรือได้กำหนดเกณฑ์คุณภาพไว้สูงมาก เกินขีดความสามารถของโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ภายในประเทศจะสามารถผลิตได้เป็นต้น ดังนั้นในปี พ.ศ.2505 กรมวิทยาศาสตร์ จึงได้เริ่มร่างข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นครั้งแรก โดยคณะกรรมการวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวม 3 เรื่องคือ เรื่องข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพถ่านไฟฉาย ข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพของขวดแก้วชนิดฝาจีบสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ และข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพน้ำปลาพื้นเมือง ในช่วงนี้เป็นช่วงที่แผนพัฒนาการเศรษฐกิจของประเทศเริ่มได้ผลคือ มีการลงทุนและการขยายตัวในทางอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ประกอบกับวิธีกำหนดเกณฑ์คุณภาพที่ใช้อยู่ไม่สามารถทำให้มีเกณฑ์สำหรับเทียบหรือเป็นมาตรฐานทันกับความต้องการ และการขยายตัวในทางอุตสาหกรรมได้

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2508 กรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดทำโครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้น โดยแบ่งเป็นโครงการย่อย 2 โครงการ คือ โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และโครงการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง

โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้รับความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ให้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2514 ยังได้รับ ความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ เป็นระยะเวลาติดต่อกันกว่า 7 ปี ทั้งนี้ เพื่อการเร่งรัดพัฒนางานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้สามารถสนองทันความต้องการ และสอดคล้องกับนโยบายพัฒนากิจการอุตสาหกรรมของประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอ "ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. ...." เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2509 คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้เพิ่มเติมหลักการบางประการแล้วลงมติรับหลักการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสนอวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภา และประกาศใช้เป็นกฎหมาย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 83 ตอนที่ 121วันที่ 31 ธันวาคม 2511) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2512 พระราชบัญญัติดังกล่าวเรียกว่า"พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งกำหนดให้ จัดตั้ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดและ ควบคุมมาตรฐาน จึงถือได้ว่ากิจการด้านการมาตรฐานในประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สรุปลำดับการดำเนินงานในรอบ 50 ปีของ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

  1. ปี พ.ศ.2446 (ร.ศ.122)

    ควรจะถือได้ว่าเป็นปีเริ่มงานด้านมาตรฐานในประเทศไทย ด้วยได้มีการตราพระราชบัญญัติเงินตรารัตนโกสินทร์ ศก 122 เป็นพระราชบัญญัติที่มีกฎเกณฑ์การผลิตเหรียญกษาปณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการนี้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้จัดตั้งกองแยกธาตุขึ้น ซึ่งต่อมาเป็นกรมวิทยาศาสตร์ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม

  2. ปี พ.ศ.2482

    กระทรวงอุตสาหกรรมให้บริการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นในประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยการออกหนังสือรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ ให้แก่ผู้ขอรับบริการ ตามระเบียบของราชการ การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ฯ ในระยะนั้นใช้มาตรฐานต่างประเทศหรือมาตรฐานระหว่างประเทศเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตลอดมาจนถึงปี พ.ศ.2510

  3. ปี พ.ศ.2506

    กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินงานด้านการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างจริงจัง เป็นครั้งแรก ซึ่งได้เริ่มกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมฉบับแรกคือมาตรฐานถ่านไฟฉาย โดยมีนายช่างใหญ่กระทรวงอุตสาหกรรม นายชายไหว แสงรุจิ (อดีตเลขาธิการคนแรกของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการมาตรฐาน

  4. ปี พ.ศ.2508

    กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการมาตรฐานอุตสาหกรรมขึ้น ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ คือ
    ก. โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    ข. โครงการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง
    โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ บรรจุโครงการไว้ในแผนพัฒนาการ เศรษฐกิจตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เพื่อเร่งพัฒนางานด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมให้สอดคล้อง กับนโยบายพัฒนา กิจการอุตสาหกรรมของประเทศ

  5. ปี พ.ศ.2509

    โครงการมาตรฐานอุตสาหกรรมได้เริ่มงานในปีงบประมาณ พ.ศ.2509 เป็นการขยายงานด้านทดสอบคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ และรับรองคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ
    โดยแบ่งออกเป็น
    - การทดสอบและรับรองคุณภาพ
    - การกำหนดมาตรฐาน
    ซึ่งโครงการนี้ได้รับการจัดสรรในด้านความช่วยเหลือเพื่อศึกษา ดูงาน ฝึกอบรม และร่วมประชุมสัมมนา ในต่างประเทศ และได้รับความช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญทางมาตรฐานอุตสาหกรรมจากสหประชาชาติในปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2509 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2509

  6. ปี พ.ศ.2510

    โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในโครงการสาขาพัฒนาอุตสาหกรรมตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2510-2514 สำนักงบประมาณจัดสรรเงินให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2510 สำหรับดำเนินงานตามโครงการมาตรฐานอุตสาหกรรม ในปีนี้นอกจากจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเป็นทุนฝึกอบรม ดูงานและสัมมนาในต่างประเทศยังได้รับความช่วยเหลือในด้านผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Industrial Standardization จากสหประชาชาติมาช่วยงานตั้งแต่ 1 เมษายน 2510 เป็นเวลา 1 ปี จำนวน 1 ราย

  7. ปี พ.ศ.2511

    เมื่อคณะรัฐมนตรีลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมพ.ศ..... แล้วให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสนอวุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาและประกาศใช้"พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 121 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2511 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2512 พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม เหตุผลในการตราพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม "เนื่องจากประเทศไทยกำลังเร่งรัดพัฒนา กิจการอุตสาหกรรม มีผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายชนิดที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศ แต่ยังมิได้มีการกำหนด มาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมให้เป็นที่แน่นอน และเหมาะสม ทำให้มีการแข่งขันกันลดราคา โดยทำคุณภาพให้ต่ำลง เป็นเหตุให้ประชาชนขาดความนิยมเชื่อถือ นอกจากนี้ยังอาจเกิดอันตรายแก่ประชาชนและก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นการ สมควรตรากฎหมายนี้ กำหนดมาตรฐานเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อความปลอดภัย หรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่ประชาชนหรือแก่กิจการอุตสาหกรรม หรือเศรษฐกิจของประเทศ"

  8. ปี พ.ศ.2512 – 2516
    • ในปี พ.ศ.2512
      ได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และได้เริ่มดำเนินงานตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    • ในปี พ.ศ. 2513-2514
      ได้จัดร่างกฎกระทรวงเพื่อควบคุมการใช้เครื่องหมายมาตรฐาน งานบริการด้านการอนุญาตให้แสดงเครื่องหมายมาตรฐานได้เริ่มขึ้นหลังจากที่ได้มีประกาศกำหนดกฎกระทรวง ฉบับที่ 1-4 (พ.ศ.2515) ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 89 ตอนที่ 55 เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2515
    • ในปี พ.ศ.2515
      โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนให้อยู่ในโครงการสาขาพัฒนาอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2515-2519
    • ในปี พ.ศ. 2516
      หลังจากได้ดำเนินการให้มีการประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 5-8 (พ.ศ.2516) ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่90 ตอนที่ 43 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2516 สำนักงานฯ ก็ได้เริ่มดำเนินการในด้านการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน
    การปฏิบัติงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เริ่มแรก (พ.ศ.2510) อาศัยเจ้าหน้าที่กองต่าง ๆของกรมวิทยาศาสตร์ โดยได้รับอนุมัติให้มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเริ่มต้นประมาณ 10 คน และในระยะเริ่มแรกนี้ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสหประชาชาติ (UNSF) โดยมีองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ(UNIDO) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นฝ่ายดำเนินการให้ความช่วยเหลือในด้านทุนการศึกษา อบรม และดูงานที่เกี่ยวกับมาตรฐาน ด้านผู้เชี่ยวชาญ และด้านเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเผยแพร่และตรวจสอบชั้นโรงงาน ความช่วยเหลือนี้แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 2 ปี ซึ่งสิ้นสุดประมาณต้นปี พ.ศ. 2516และระยะที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2519 รวมระยะที่ UNDP/UNIDO ให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานฯประมาณ 10 ปี ซึ่งเป็นเวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทุนต่าง ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ ในระยะแรก มีดังต่อไปนี้
    • ทุน UNSF ฝึกอบรมด้าน Information
    • ทุน UNSF ฝึกอบรมด้าน Quality Control
    • ทุน UNIDO ประชุมสัมมนา ฝึกอบรมด้าน Metrology
    • ทุน UNIDO ฝึกอบรมด้าน Organization of Standardization Systems in Manufacturing Industries
    • ทุน UNSF ศึกษาด้าน Mass Media Communication
    • ทุน UNIDO ฝึกอบรมด้าน Industrial Quality Instructor
    • ทุน UNIDO ฝึกอบรมด้านการมาตรฐานและควบคุมคุณภาพ
  9. ปี พ.ศ.2517

    เป็นปีที่สำนักงานมาตรฐานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 ในขั้นสมบูรณ์แบบ คือ มีการกำหนดมาตรฐาน การตราพระราชกฤษฎีกากำหนด ให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมต้องเป็นไปตามมาตรฐาน การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายมาตรฐาน การอนุญาตให้ทำ และนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน การควบคุมการใช้ เครื่องหมายมาตรฐาน

  10. ปี พ.ศ.2518

    คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับโอนการเป็นสมาชิกในองค์การระหว่าง ประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ไอเอสโอ) ในฐานะผู้แทนประเทศไทย จากศูนย์กำหนดรายการมาตรฐานแห่ง ประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และให้รับดำเนินงานกำหนดมาตรฐานมูลฐาน ซึ่งศูนย์กำหนดรายการมาตรฐานแห่งประเทศไทยทำแล้ว และที่ทำอยู่ต่อไป

  11. ปี พ.ศ.2519

    คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยให้คณะกรรมการ ฯ มีอำนาจหน้าที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.มาตรฐานฯ และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดการประชุม "วันมาตรฐานโลก" และนิทรรศการ "สัปดาห์มาตรฐานโลก" ขึ้นในเดือนตุลาคม 2519 เพื่อเผยแพร่ความสำคัญและความจำเป็นของการมาตรฐานในวงการอุตสาหกรรม ในปีนี้ได้รับงบประมาณประจำปี 8.629 ล้านบาท

  12. ปี พ.ศ.2520

    ได้รับงบประมาณประจำปี 10.136 ล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2520 ก่อสร้างอาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้วเสร็จ และเข้าปฏิบัติงาน ณ อาคารดังกล่าวในบริเวณกระทรวงอุตสาหกรรม (ถนนพระรามที่ 6) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สนับสนุนผู้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมคุณภาพกลุ่มหนึ่ง จัดตั้ง สมาคมส่งเสริมการควบคุมคุณภาพ (สคภ) QUALITY CONTROL ASSOCIATION (QCA) ซึ่งปัจจุบันที่ตั้งของสมาคมอยู่ที่อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    โดยมีวัตถุประสงค์

    1. ส่งเสริมและเผยแพร่ ความรู้ ความเข้าใจ ในประโยชน์ และเทคนิคของการควบคุมคุณภาพ
    2. ชักจูงให้ผู้นำด้านธุรกิจ การค้า องค์กรของรัฐ ตลอดจนประชาชนที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญ ในบทบาทของการควบคุมคุณภาพที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
    3. ส่งเสริมและสนับสนุน การศึกษาและฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการควบคุมคุณภาพ
    4. เป็นศูนย์ประสานงาน และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีของการควบคุมคุณภาพ
    5. ให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาสมาชิกในการใช้ระบบการควบคุมคุณภาพให้บังเกิดผล
    สมาชิกของสมาคมประกอบด้วยสมาชิก นิติบุคคล และบุคคลธรรมดาทุกสาขาวิชาชีพ
    แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามคุณสมบัติดังนี้
    1. สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก
    2. สมาชิกสามัญนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานศึกษา สมาคมอื่น และหน่วยงานของรัฐ
    3. สมาชิกสามัญบุคคลธรรมดา ได้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการควบคุมคุณภาพและเป็นบุคคลที่บรรลุ นิติภาวะ ซึ่งมีการศึกษาไม่ต่ำกว่า ม.ศ.5 หรือเทียบเท่า และไม่มีความประพฤติเสียหายที่เป็นภัยต่อสังคม
    4. สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจในกิจการของสมาคม
  13. ปี พ.ศ.2522

    วันที่ 25 มีนาคม 2522 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 41(ฉบับพิเศษ) ลงวันที่ 24 มีนาคม 2522 โดยให้รวมสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย มาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันตาม พ.ร.บ.มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2522 กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีหน้าที่บังคับบัญชาควบคุมและดูแล โดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 41 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2522)วันที่ 4 พฤษภาคม 2522 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2522 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2522 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 72 ฉบับพิเศษ หน้า 55 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2522) เป็นดังนี้

    1. สำนักงานเลขานุการกรม
    2. กองวิชาการและการต่างประเทศ
    3. กองกำหนดมาตรฐาน
    4. กองควบคุมมาตรฐาน
    5. กองส่งเสริมมาตรฐาน
    6. สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
    ในปีนี้ สำนักงาน ก.พ. อนุมัติตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 1 ตำแหน่ง
  14. ปี พ.ศ.2523

    มีอัตรากำลังรวม 336 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 214 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี จำนวน 13.74 ล้านบาท

  15. ปี พ.ศ.2524

    มีอัตรากำลังรวม 409 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 276 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี จำนวน 18.62 ล้านบาทสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สนับสนุนผู้สนใจและเกี่ยวข้องกับการมาตรฐานกลุ่มหนึ่งจัดตั้ง สมาคมมาตรฐานไทย (สมฐ.) มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Thai Standards Association (TSA) ขึ้น ซึ่งทางสมาคมได้ขอจดทะเบียนตั้งสมาคม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2524 โดยมีวัตถุประสงค์

    1. ส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจในประโยชน์ และเทคนิคของการมาตรฐาน
    2. เผยแพร่กิจการและผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานที่สมาคมยอมรับ
    3. ชักนำให้ผู้นำด้านธุรกิจ การค้า องค์กรของรัฐ ตลอดจนประชาชนทั่วไป เห็นความสำคัญในบทบาทของการมาตรฐานที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
    4. เป็นศูนย์ทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของการมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    5. เพื่อให้ผู้ใช้มาตรฐานและองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องมีความร่วมมือกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
    6. ประสานงาน ติดต่อกับหน่วยงานมาตรฐานในประเทศอื่น ๆ
    สมาชิกของสมาคมประกอบด้วย สมาชิก นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ทุกสาขาวิชาชีพ แบ่งเป็น 4 ประเภท ตามคุณสมบัติดังนี้
    1. สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก
    2. สมาชิกสามัญนิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานศึกษา สมาคมอื่น และหน่วยงานของรัฐ
    3. สมาชิกสามัญบุคคลธรรมดา ได้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการมาตรฐานและเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
    4. สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจในกิจการของสมาคม
  16. ปี พ.ศ.2525

    มีอัตรากำลังรวม 415 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 360 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี จำนวน 25.97 ล้านบาท

  17. ปี พ.ศ.2526

    มีอัตรากำลังรวม 415 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 409 อัตรา ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 32 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงบประมาณให้จัดตั้งห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก เพื่อการพัฒนา งานด้านการกำหนดมาตรฐานไว้ในกองกำหนดมาตรฐาน ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ

  18. ปี พ.ศ.2527 - พ.ศ.2529

    มีอัตรากำลังตามแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 1 และกรอบอัตรากำลังลูกจ้างประจำ รอบที่ 1 รวม 492 อัตรา เป็น อัตราที่ได้รับงบประมาณ 420 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2527 จำนวน 34.06 ล้านบาท พ.ศ.2528 จำนวน 34.28 ล้านบาท พ.ศ. 2529 จำนวน 36.71 ล้านบาท
    พ.ศ.2527
    สำนักงาน ก.พ.กำหนดให้มีตำแหน่ง รองเลขาธิการ ฯ อีก 1 ตำแหน่ง และตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือผู้เชี่ยวชาญ พิเศษด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (นักวิชาการมาตรฐาน 8 หรือ 9) 1 ตำแหน่ง
    พ.ศ.2529
    คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบและอนุมัติใช้เงินจากโครงการเร่งรัดพื้นฟูการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (กฟศ.) จำนวน 10.07 ล้านบาท เพื่อกำหนดมาตรฐาน และขยายงานห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ตรวจสอบ ทดสอบและ พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตาม "โครงการกำหนดมาตรฐาน การทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการควบคุม คุณภาพ ของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดมาตรฐานเพื่อส่งเสริมการส่งออก" โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้อนุญาตให้ ใช้อาคารสหกรณ์ โรงงานสุราบางยี่ขัน ซอยบางยี่ขัน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ปรับปรุงเป็นห้องปฏิบัติการทดสอบ ซึ่งได้รวมเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งจัดซื้อเพิ่มใหม่กับเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม แล้วย้ายบุคลากรฝ่ายพัฒนาและ ตรวจสอบ กองกำหนดมาตรฐานไป ปฏิบัติงานทดสอบตามโครงการ ฯ ดังกล่าว (20 ตุลาคม 2533 ฝ่ายดังกล่าว ได้ปรับปรุงไปเป็นฝ่ายทดสอบ 5 ของ ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและฝึกอบรมด้านการมาตรฐาน)ประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มประเทศอาเซียน ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างประเทศอาเซียนกับกลุ่มประชาคมยุโรป (EEC) ในโครงการมาตรฐานอุตสาหกรรม และการประกันคุณภาพของประเทศอาเซียน (ASEAN-EC Industrial Standards and Quality Assurance Programme (ASEAN-EC ISQAP)) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 เห็นชอบโครงการมาตรฐานอุตสาหกรรม และประกันคุณภาพของประเทศอาเซียน และอนุมัติให้ประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานประสานงานกลาง และเป็นผู้ประสานงาน ในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ของกลุ่มประเทศอาเซียนโครงการ ASEAN-EC ISQAP เป็นโครงการที่ประเทศอาเซียนได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมยุโรป ประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าของประเทศอาเซียน โดยใช้มาตรฐาน การทดสอบและการประกันคุณภาพ เป็นแกนนำโครงการดังกล่าว มีกิจกรรมการดำเนินการที่สำคัญ 3 ประการ คือ

    1. การเสริมสร้างสมรรถนะ (Strenghtening)
      มาตรฐานแห่งชาติของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนให้สามารถดำเนินงานด้านมาตรฐาน การทดสอบ และการประกันคุณภาพ เพื่อให้บริการแก่ภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิผลและเป็นที่ยอมรับของสากล
    2. การปรับมาตรฐานให้สอดคล้อง (Standards Harmonization)
      เป็นการปรับมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมสาขาเหล็กไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลการเกษตร และสาขาที่เกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยให้สอดคล้องกันระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน
    3. การประสานงานโครงการ (Coordination)
      ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการ
  19. ปี พ.ศ.2530

    มีอัตรากำลัง รวม 493 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 430 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีจำนวน 37.24 ล้านบาทได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและฝึกอบรมด้านการมาตรฐาน ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการกำหนดมาตรฐาน และการ ควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตลอดจนให้บริการฝึกอบรมด้านการมาตรฐานแก่ส่วนราชการและภาค เอกชนคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2530 วันที่ 27 พฤษภาคม 2530 มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รับผิดชอบในการให้การ รับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบของเอกชน

  20. ปี พ.ศ.2531 - พ.ศ.2533

    มีอัตรากำลังตามแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 2 และกรอบอัตรากำลังลูกจ้างประจำ รอบที่ 2 (พ.ศ.2530 - พ.ศ.2532) รวม 591 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ 520 อัตรา และได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ.2531 จำนวน 44.39 ล้านบาท พ.ศ.2532 จำนวน 53.05 ล้านบาท พ.ศ.2533 จำนวน 59.91 ล้านบาท
    พ.ศ. 2531
    ประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 12-13 (พ.ศ.2531) ลงวันที่ 22 เมษายน 2531 (ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 90 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2531) กำหนดเครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย เพื่อควบคุมเฉพาะความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2531 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 206 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2531) ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบเอกชนทั้งใน ประเทศและต่างประเทศเป็นผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้ และปรับปรุงเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ พนักงานเจ้าหน้าที่คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมให้เหมาะสม อีกทั้งเพิ่มอัตราโทษสำหรับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้สูงขึ้น
    พ.ศ. 2532
    ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP/ UNIDO) ตามโครงการพัฒนา อุตสาหกรรมอาหารด้วยการมาตรฐาน (Development of Food Industry through Standardization) ซึ่งประกอบด้วย 2 ด้าน คือ การฝึกอบรมบุคลากรด้านห้องปฏิบัติการอาหารและที่เกี่ยวข้องกับสุขลักษณะทาง อาหาร และการจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านอาหาร (เคมีและจุลชีวะ) รวมทั้งตั้งห้องปฏิบัติการการทดสอบด้วย ประสาทสัมผัส (sensory test) ได้รับความช่วยเหลือเป็นเวลา 3 ปีร่วมมือทางวิชาการกับ TUV ESSEN GROUP เพื่อให้บริการผู้ผลิตในประเทศไทยใช้เครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
    ปี พ.ศ.2533
    วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2533 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 32 ฉบับพิเศษ หน้า 6 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2533) เป็นดังนี้

    1. สำนักงานเลขานุการกรม
    2. กองกำหนดมาตรฐาน 1
    3. กองกำหนดมาตรฐาน 2
    4. กองควบคุมมาตรฐาน
    5. กองตรวจการมาตรฐาน
    6. กองวิชาการและการต่างประเทศ
    7. กองส่งเสริมมาตรฐาน
    8. สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
    วันที่ 19 ตุลาคม 2533 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2533 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 107 ตอนที่ 214 ฉบับพิเศษ หน้า 30 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2533) เป็นดังนี้
    1. สำนักงานเลขานุการกรม
    2. กองกำหนดมาตรฐาน 1
    3. กองกำหนดมาตรฐาน 2
    4. กองควบคุมมาตรฐาน
    5. กองตรวจการมาตรฐาน
    6. กองวิชาการและการต่างประเทศ
    7. กองส่งเสริมมาตรฐาน
    8. ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและฝึกอบรมด้านการมาตรฐาน
    9. สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
  21. ปี พ.ศ.2534

    IEC (International Electrotechnical Commission) ตอบรับประเทศไทย โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2534 จะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานสาขาไฟฟ้าและอิเลคทรอเทคนิคส์ของ IEC โดยวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียอันอาจกระทบต่อผลประโยชน์ ของประเทศไทย ซึ่ง ครม. ได้ลงมติเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 อนุมัติให้ สมอ. เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเลคทรอเทคนิคส์ (IEC) รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานระหว่างประเทศสาขาอิเลคทรอเทคนิคส์ เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในการรวมตัวเป็นตลาดเดียวของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจยุโรปด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ และเพื่อผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมส่งออก ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเลคทรอเทคนิคส์ของไทยในอนาคตจากการที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้กำหนดมาตรฐาน ISO 9000 series :Quality System ขึ้น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ได้กำหนด อนุกรมมาตรฐาน มอก.9000 ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกันกับมาตรฐาน ISO 9000 และมาตรฐานยุโรป EN29000 ทุกประการ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 และเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบคุณภาพ เพื่อควบคุมดูแลการดำเนินงานรับรองระบบคุณภาพซึ่งได้รับอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2534 ซึ่งสำนักงานฯ ได้เปิดให้บริการรับรองระบบคุณภาพแก่ผู้ประกอบการตามอนุกรมมาตรฐานดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2534 เพื่ออำนวยความสะดวกและส่งเสริมการส่งออก และส่งผลให้มีการปรับปรุงระบบคุณภาพในอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งนี้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และการบริการภายในประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าโลก ได้อย่างเท่าเทียมกัน

  22. ปี พ.ศ. 2535-พ.ศ.2537

    มีอัตรากำลังตามแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 3 และกรอบอัตรากำลังลูกจ้างประจำ รวม 594 อัตรา เป็นอัตราที่ได้รับงบประมาณ รวม 535 อัตราพ.ศ. 2535
    ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2535 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม109 ตอนที่ 45 ลงวันที่ 9 เมษายน 2535) กำหนดหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อให้ผู้รับโอนใบอนุญาตสามารถประกอบกิจการได้ทันทีมีความต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยส่วนรวม
    พ.ศ. 2536
    - ได้มีการจัดตั้งกองรับรองห้องปฏิบัติการและรับรองระบบคุณภาพ ขึ้นเป็นส่วนราชการในสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นการภายใน เพื่อรับผิดชอบงานรับรองห้องปฏิบัติการและรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศ โดยดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการรับรองห้องปฏิบัติการรับรองระบบคุณภาพ ดำเนินการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ รับรองระบบคุณภาพและอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองระบบคุณภาพ ตลอดจนการตรวจติดตามผลการรับรองห้องปฏิบัติการ และการรับรองระบบคุณภาพ
    - ประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพ จัดสัมมนาระดับภูมิภาคระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนกับประชาคมยุโรป (อีซี) ในหัวข้อเรื่อง "Gatt Agreement on Technical Barriers toTrade หรือ Gatt TBT Code" เพื่อศึกษาผลดีผลเสียและประโยชน์จากการสมัครเข้าเป็นภาคี Gatt TBTCode ของกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศของอาเซียนและอีซีทั้งนี้ เนื่องจากประชาคมยุโรปได้เปิดให้มีการเจรจากับประเทศที่สาม เพื่อการยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและการรับรอง (mutual recognition of conformity assessment) โดยประชาคมยุโรปได้กำหนดเงื่อนไขไว้ข้อหนึ่งว่าลำดับความสำคัญในการเปิดการเจรจา จะให้กับประเทศที่เป็นภาคีของ Gatt Agreement onTechnical Barriers to Trade-GATT TBT ข้อตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าหรือStandards Code ซึ่งประเทศไทยได้สมัครเป็นภาคีของ Gatt ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 แล้ว แต่ยังมิได้เป็นภาคีของ Gatt TBT หรือ Standards Code ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการสมัครเป็นภาคีของGatt TBT เมื่อ 31 สิงหาคม 2536 และได้มีการลงนามรับรองความตกลงดังกล่าวเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2536ความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2536 และประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการในฐานะประเทศภาคี 2 ประการ คือ

    1. กำหนดหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ตอบข้อซักถาม (Enquiry Point) ในด้านกฎระเบียบที่เกี่ยว
      กับ มาตรฐานตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง และแจ้งให้ประเทศภาคีอื่นทราบผ่านทางสำนักงานพาณิชย์
      ต่าง ประเทศ ณ นครเจนีวา
    2. แจ้งให้คณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าทราบถึงระเบียบ และมาตรการเกี่ยวกับ
      มาตรฐานสินค้า ซึ่งไทยประกาศใช้ตามข้อตกลงดังกล่าวนี้ ตามมาตรา 15 วรรค 7
    - สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร่วมลงนามความร่วมมือด้านการมาตรฐานกับสถาบันมาตรฐานแห่งชาติมาเลเซีย (Standards and Industrial Research Institute of Malaysia - SIRIM) เพื่อพัฒนางานมาตรฐานของทั้งสองประเทศ และเพื่อการค้าระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียต่างเป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียน การให้ความร่วมมือด้านมาตรฐานตามข้อเสนอนี้ เป็นการร่วมมือทางวิชาการในระดับหนึ่งของประเทศ ในกลุ่มอาเซียนด้วยกันอันเป็นประโยชน์ในการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศอาเซียนเองให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากอุปสรรคทางวิชาการต่อการค้า นอกจากนี้การดำเนินการทางวิชาการด้านมาตรฐาน จะได้รับความร่วมมือทางด้านการมาตรฐาน การรับรองคุณภาพ การให้ข้อสนเทศทางวิชาการ และการฝึกอบรมต่างๆ และเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area - AFTA) ซึ่งมีข้อกำหนดถึงความร่วมมือกันทางวิชาการ การใช้มาตรฐาน และการยอมรับซึ่งกันและกันเกี่ยวกับการทดสอบและการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ฯ เป็นมาตรการเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีพ.ศ.2537
    - 15 กุมภาพันธ์ 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้ง "กองรับรองระบบคุณภาพและรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบ"เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการรับรองระบบคุณภาพ การรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกประเทศคู่ค้า
    - การปรับระบบมาตรฐานของประเทศสู่ระดับสากล โดยการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9000 การส่งเสริมให้เอกชนร่วมงานด้านการรับรอง (Certificate) การรับรองห้องปฏิบัติการทดสอบ (Lab Accreditation) ซึ่งมีแผนการดำเนินงานดังนี้
    • การปรับปรุงพระราชบัญญัติมาตรฐานฯ ให้มีขอบข่ายครอบคลุมงานมาตรฐานทั้งระบบ โดยอาศัยแนวทางจากกฎหมายมาตรฐานของต่างประเทศด้วย กระทรวงอุตสาหกรรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการ (เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา - นายชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานท์ เป็นประธาน) แก้ไข ปรับปรุงพ.ร.บ.มาตรฐานฯ โดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
    • การปรับปรุงบทบาทของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดงาน (กิจกรรม) ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะต้องทำและที่จะมอบหมายให้เอกชนทำไว้แล้ว สำหรับทศวรรษหน้าระหว่าง พ.ศ.2536-2545
    - วันที่ 26 ธันวาคม 2537 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2537 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2537 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 111 ตอนที่ 61 ก หน้า24 วันที่ 26 ธันวาคม 2537) เป็นดังนี้
    1. สำนักงานเลขานุการกรม
    2. กองกำหนดมาตรฐาน 1
    3. กองกำหนดมาตรฐาน 2
    4. กองควบคุมมาตรฐาน
    5. กองตรวจการมาตรฐาน
    6. กองรับรองระบบคุณภาพและรับรองห้องปฏิบัติการ
    7. กองวิชาการและการต่างประเทศ
    8. กองส่งเสริมมาตรฐาน
    9. ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและฝึกอบรมด้านการมาตรฐาน
    10. สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
  23. ปี พ.ศ.2538

    คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ปรับปรุงชื่อและอำนาจหน้าที่ของ "คณะกรรมการพิจารณากิจกรรมมาตรฐานเพื่อการส่งออกไปยังประชาคมยุโรป" เป็น "คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานด้านการมาตรฐาน" (National Accredition Council -NAC) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่ ISO ได้กำหนดมาตรการและวิธีการเกี่ยวกับระบบงานการรับรองความสามารถหรือรับรองวิทยฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ให้การรับรองวิทยฐานะแก่หน่วยงานอื่น ในเรื่องที่เกี่ยวกับระบบงานด้านการมาตรฐาน เพื่อให้ทั่วโลกมีการดำเนินงานเป็นระบบเดียวกัน อันจะเป็นที่ยอมรับได้ของประเทศคู่ค้าในการค้าระหว่างประเทศองค์ประกอบของ NAC มี รมว . กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้แทนหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ โดยมีเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการNAC มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการดำเนินการด้านการมาตรฐานของประเทศให้อยู่ในทิศทางเดียวกันกำหนดมาตรฐานและหรือเสนอแนะวิธีการปรับหรือจัดระบบการมาตรฐานของไทยให้สอดคล้องกับระบบสากลให้คำแนะนำและประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในด้านการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับระบบการมาตรฐานรับรองและหรือเพิกถอนการให้การรับรองฐานะหน่วยงาน เพื่อการปฏิบัติการด้านการมาตรฐาน ดำเนินการเพื่อให้บรรลุการยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและการรับรองกับนานาประเทศที่เป็นคู่ค้า เป็นต้น โดยมีกิจกรรมหลักของระบบที่ใช้ในการรับรองฐานะหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานด้านการมาตรฐาน ดังนี้ิ

    • การรับรองระบบคุณภาพ (Quality System Certification)
    • การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ (Laboratory Accreditation)
    • การรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System Certification)
    • การจดทะเบียนบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการมาตรฐาน (Personnel Registration) รวมทั้งหลักสูตรและองค์กรฝึกอบรม
    มีนาคม 2538 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ. ให้เป็น 1 ใน 2 ส่วนราชการแรกให้จัดทำโครงการนำร่อง "การพัฒนาสมรรถนะระบบราชการ"สิงหาคม 2538 ก.พ.มีมติรับทราบและเห็นชอบให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดำเนินการต่อไปตามข้อเสนอในรายงานการศึกษา "การพัฒนาสมรรถนะระบบราชการ สมอ." และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเริ่มจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 4 (พ.ศ.2539-2541)พฤศจิกายน 2538 ปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการให้สอดคล้องกับ "การพัฒนาสมรรถนะระบบราชการ สมอ." ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความเห็นชอบและส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ขณะเดียวกันสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสนอขอปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการงบประมาณ การเงินการคลังการพัสดุ และการบริหารงานบุคคล เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และสอดรับกับการพัฒนาสมรรถนะระบบราชการสมอ.
  24. ปี พ.ศ.2539

    - มกราคม 2539 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี รอบที่ 4 ตามโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่เสร็จสิ้นลง และส่งให้ ก.พ.พิจารณา ขณะเดียวกัน ก.พ. มอบอำนาจด้านการสรรหาบุคคล และการพิจารณาคุณวุฒิให้ สมอ.ดำเนินการได้เอง
    - มกราคม 2539 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จัดทำโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพส่วนราชการโดยดำเนินการจัดทำตัวชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลผลการทำงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงาน ก.พ. จัดให้ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศด้าน PerformanceMeasurement เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าว
    - มกราคม 2539 ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบต่าง ๆ ด้านการคลัง ในส่วนที่เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ในฐานะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นกรมตัวอย่างตามโครงการนำร่อง การพัฒนาสมรรถนะระบบราชการ
    - กุมภาพันธ์ 2539 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติด้านการงบประมาณเพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เป็นปัญหา และอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและนำเข้าหารือกับสำนักงบประมาณ
    - เมษายน 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการ (ปรร.)สำนักงาน ก.พ. และสำนักงบประมาณ ซึ่งเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ตามโครงการนำร่องพัฒนาสมรรถนะระบบราชการ
    - พฤษภาคม 2539 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กำหนดอัตราเงินเดือนเพิ่มใหม่ในกองรับรองระบบคุณภาพและรับรองห้องปฏิบัติการ เป็นกรณีพิเศษ จำนวน 24 อัตรา
    - กรกฎาคม 2539 อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับตำแหน่งและอัตราเงินเดือน ก.พ.ให้ความเห็นชอบการจัดทำแผนอัตรากำลัง 3 ปี สมอ.รอบที่ 4 ซึ่งมีอัตรากำลังรวม 501 อัตรา เป็นอัตรากำลังที่ได้รับงบประมาณทั้ง 501 อัตราและได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 389,466,200 บาท และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศการแบ่งส่วนราชการใหม่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 30 ก. ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2539 แล้วเป็นดังนี้ิ

    1. สำนักงานเลขานุการกรม
    2. กองกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ
    3. กองนิติการ
    4. กองส่งเสริมและฝึกอบรม
    5. ศูนย์ทดสอบ
    6. ศูนย์สนเทศมาตรฐาน
    7. สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ
    8. สำนักบริหารมาตรฐาน 1
    9. สำนักบริหารมาตรฐาน 2
    10. สำนักบริหารมาตรฐาน 3
    11. สำนักบริหารมาตรฐาน 4
  25. ปี พ.ศ.2540 - พ.ศ.2541

    วันที่ 3 ตุลาคม 2540 กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน" (สรบ.) ขึ้นในกระทรวงอุตสาหกรรม โดยใช้อัตรากำลังและอาคารสถานที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    วันที่ 21 ตุลาคม 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดตั้ง "สถาบันรับรองมาตรฐาน ไอเอสโอ" (สรอ.) เพื่อทำหน้าที่รับรองมาตรฐาน ISO 9000 ISO 14000 และมอก.18000 ซึ่งรองรับการโอนงานรับรองมาตรฐานISO 9000 ISO 14000 และมอก.18000 ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคต และเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นหน่วยรับรองระบบงานวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดตั้ง "สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์" (สฟอ.) และ"สถาบันยานยนต์" (สยย.) ตามแผนแม่บทกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2540-พ.ศ.2544) ซึ่งรองรับการโอนงานทดสอบด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และด้านยานยนต์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคตวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ยุบเลิกตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 1 ตำแหน่ง ทดแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คงเหลืออัตรากำลังข้าราชการ จำนวน 500 อัตราวันที่ 22 ตุลาคม 2541 ประกาศนโยบายคุณภาพของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้นำระบบคุณภาพ ISO 9000 มาใช้ในหน่วยงาน

  26. ปี พ.ศ.2542 - พ.ศ.2543

    วันที่ 1 มกราคม 2542 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยุติการรับคำขอรับการรับรองระบบงานตามมาตรฐาน ISO 9000 ISO 14000 และ มอก. 18000 และวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2542 มอบแฟ้มคำขอฯ ที่ตรวจประเมินแล้วเสร็จ ให้แก่สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพื่อถ่ายโอนงานรับรองมาตรฐาน ISO 9000ISO 14000 และ มอก. 18000วันที่ 23 มิถุนายน 2542 ตัดโอน "สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน" (สรบ.)จากกระทรวงอุตสาหกรรม มาสังกัดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งเป็นการภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2542 ตัดโอนตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 5 ตำแหน่ง ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและยุบเลิกตำแหน่งข้าราชการทดแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจำนวน 1 ตำแหน่ง คงเหลืออัตรากำลังข้าราชการ จำนวน 494 อัตราวันที่ 1 พฤศจิกายน 2542 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมส่งมอบครุภัณฑ์เครื่องมือทดสอบอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์เครื่องใช้สำนักงาน และอุปกรณ์อื่น ๆ ให้แก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันยานยนต์เพื่อถ่ายโอนงานทดสอบด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไปเป็นของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และด้านยานยนต์ไปเป็นของสถาบันยานยนต์วันที่ 1 ตุลาคม 2543 ยุบเลิกตำแหน่งข้าราชการทดแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำนวน 2 ตำแหน่ง และผู้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จำนวน 2 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง คงเหลืออัตรากำลังข้าราชการ จำนวน 490 อัตรา

  27. ปี พ.ศ.2544

    วันที่ 4 มกราคม 2544 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ส่งมอบงานการเป็นหน่วยตรวจโรงงานตามมาตรฐาน VDE ให้แก่สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ยุบเลิกตำแหน่งข้าราชการทดแทนตำแหน่งที่เกษียณอายุราชการของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จำนวน 1 ตำแหน่ง คงเหลืออัตรากำลังข้าราชการ จำนวน 489 อัตรา และยุบเลิกตำแหน่งลูกจ้างประจำ หมวดแรงงาน จำนวน 1 ตำแหน่ง จากการเกษียณอายุราชการ คงเหลืออัตรากำลังลูกจ้างประจำจำนวน 57 อัตราเปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้ออกแบบ นายถวัลย์ ดิษฐสุธรรม

    ความหมายของตราสัญลักษณ์
    รูปทรงสี่เหลี่ยมวางเฉียง มีลักษณะเหมือนเครื่องหมายมาตรฐาน สื่อถึง ความเป็นมาตรฐาน และการดำเนินงานด้านมาตรฐานซึ่งเป็นภารกิจที่เป็นหัวใจหลักของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    ช่องว่างด้านบน-ล่าง แสดงความไม่มีที่สิ้นสุด คือ การพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่องตามวิสัยทัศน์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
    รูปทรงเยื้องกันซ้าย-ขวา แสดงการประสานและความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้งานมาตรฐานบรรลุผลสำเร็จและดูประดุจมือที่โอบกอดคล้ายกับการโอบอุ้มรักษามาตรฐานไว้
    เส้นตั้งแกนกลาง แสดงความสมดุล ความเที่ยงตรง และเป็นกลาง สื่อถึง การดำเนินงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อย่างเป็นกลางและเที่ยงธรรม
    รูปทรงกลมภายนอก สื่อถึง ฟันเฟือง อันเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึง บทบาทและภารกิจหลักของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ดำเนินการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าสืบไป
    พฤษภาคม 2544 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงาน ก.พ. จัดทำโครงการการพัฒนาระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (Result Base Management - RBM) ในสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและคณะทำงานพัฒนาระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544
    มิถุนายน 2544 สมาคมที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วมสนับสนุนคือ สมาคมมาตรฐานไทย (สมฐ.) และสมาคมส่งเสริมการควบคุมคุณภาพแห่งประเทศไทย (สคภ.) ได้รวมตัวกันเนื่องจากวัตถุประสงค์และการดำเนินงานที่ใกล้เคียงกันมาก และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สมาคมมาตรฐานและคุณภาพแห่งประเทศไทย" (ส.ม.ค.ท.) หรือ The Standards & Quality Association of Thailand : SQAT ซึ่งทางสมาคมได้ขอจดทะเบียนตั้งสมาคมเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ที่ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
    1. ส่งเสริมและเผยแพร่สาระความรู้เกี่ยวกับความหมายและขอบข่ายของคำว่า "มาตรฐานและคุณภาพ"ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ
    2. ส่งเสริมให้องค์กรต่าง ๆ และบุคคลทั่วไปตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของ "มาตรฐานและคุณภาพ" ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
    3. ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "มาตรฐานและคุณภาพ" อย่างต่อเนื่องจริงจัง ตลอดจนให้การรับรอง "มาตรฐานและคุณภาพ"
    4. เป็นศูนย์กลางในการติดต่อประสานงาน และการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ "มาตรฐานและคุณภาพ" ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    5. ให้ความช่วยเหลือในเรื่อง "มาตรฐานและคุณภาพ" ทั้งที่เกี่ยวกับ "ชีวิต" "ผลงาน" ของบรรดาสมาชิก
    กิจกรรมของ ส.ม.ค.ท.
    1. ให้ความร่วมมือ และสนับสนุนงานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อพัฒนามาตรฐานและคุณภาพ
    2. ให้คำปรึกษาแนะนำในการแก้ไข และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานและคุณภาพ
    3. ส่งเสริม และเผยแพร่ความรู้ โดยจัดทำเอกสาร และจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ
    ส.ม.ค.ท. ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเภท
    1. สมาชิกกิติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควรเชิญเข้าเป็นสมาชิก
    2. สมาชิกสามัญนิติบุคคล ได้แก่ องค์กรที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย และหน่วยงานของรัฐ
    3. สมาชิกสามัญบุคคลธรรมดา เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะและไม่มีความประพฤติเสียหายที่เป็นภัยต่อสังคม
    4. สมาชิกสมทบ ได้แก่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจในกิจกรรมของสมาคม

สถิติผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ เริ่มนับ 10 พ.ค. 2565