ทิศทางและแนวทางการดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ.
  1. สถานะด้านการมาตรฐานระหว่างประเทศ

    ในปัจจุบัน กิจกรรมด้านการมาตรฐานที่เป็นสากล ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ มาตรวิทยา (Metrology) การกำหนดมาตรฐาน (Standards Development) และ การตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่สามารถช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างยั่งยืน เนื่องจากกิจกรรมด้านการมาตรฐานสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตหรือทำให้การบริการมีคุณภาพ ปัจจุบัน กิจกรรมด้านการมาตรฐานมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่มีการกำหนดและใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆอย่างกว้างขวาง เช่น การบริหาร การบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และการประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ เพื่อให้มีกรอบกติกาหรือแนวทางที่ชัดเจน ช่วยให้เกิดการยอมรับผลิตภัณฑ์และบริการซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ กิจกรรมด้านการมาตรฐานยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆด้วย ดังนั้น กิจกรรมด้านการมาตรฐานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้สมรรถนะระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยที่ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ ธุรกิจ และสังคม ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการมาตรฐานทั้งสิ้น นับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลกในปี พ.ศ.2538 ได้มีการกำหนดแนวปฏิบัติสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรฐานและกฎระเบียบทางวิชาการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขจัดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (WTO-TBT) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรฐานสากลหรือปรับมาตรฐานของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และให้มีการยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองซึ่งกันและกันโดยผ่านกระบวนการการรับรองระบบงานตามมาตรฐานสากล มาตรฐานจึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางการค้า ที่สร้างความชอบธรรมในการแข่งขัน ประเทศที่มีระบบการมาตรฐานที่เข้มแข็งซึ่งมักเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงมักจะได้เปรียบในการแข่งขัน ดังนั้น ประเทศที่ระบบการมาตรฐานไม่เข้มแข็ง จะเสียเปรียบหรือพบอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศอยู่เสมอ

  2. การดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศไทย

    การดำเนินงานด้านการมาตรฐานของประเทศไทยมีมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว แต่ถือว่ามีการเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ขึ้นในปี พ.ศ. 2511 โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน มีภารกิจหลักในการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ และการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในประเทศ และการควบคุมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมทั้งที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด การดำเนินงานของ สมอ.ในปัจจุบัน ได้ขยายขอบข่ายการดำเนินงานออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยครอบคลุมภารกิจการกำหนดมาตรฐานอื่นที่ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้วย เช่น ระบบการบริหารจัดการ บริการ บุคลากร หน่วยงาน การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในเวทีการค้าระหว่างประเทศ และการรับรองความสามารถของหน่วยงานตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสากล

  3. ปัญหาในระบบการมาตรฐานของประเทศไทย

    จากสถานการณ์ดำเนินงานด้านการมาตรฐานที่เป็นอยู่ในประเทศ เปรียบเทียบกับระบบสากลที่มีการดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้ว สรุปประเด็นที่เป็นปัญหาของระบบการมาตรฐานของประเทศไทยได้ ดังนี้

      ด้านมาตรวิทยา
    1. ขีดจำกัดในการให้บริการในสาขาที่มีความต้องการ และการกระจายงานไปสู่ส่วนภูมิภาค เนื่องจากต้องลงทุนและใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูง และยังอยู่ในระยะเริ่มต้น
    2. ขาดความเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบการมาตรฐาน

      ด้านการกำหนดมาตรฐาน
    1. ขาดเอกภาพในการดำเนินงาน เนื่องจากไม่มีความเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกัน มาตรฐานที่บางหน่วยงานกำหนดขึ้นจึงอาจไม่สอดคล้องกับแนวทางที่สากลยอมรับ และไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจนในบางสาขา
    2. ความแตกต่างกันของมาตรฐานที่แต่ละหน่วยงานกำหนด สร้างภาระแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติ
    3. การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากไม่เข้าใจประโยชน์ที่แท้จริง และขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ

      ด้านการตรวจสอบและรับรอง
    1. มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นในส่วนราชการต่างๆเป็นจำนวนมาก เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของส่วนราชการ และส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการดำเนินงานตามแนวทางที่สากลยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบซึ่งลงทุนสูง และไม่มีการจัดการให้เกิดความคุ้มค่า
    2. การดำเนินงานของภาคเอกชนที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เป็นกิจการต่างของชาติ ซึ่งอาจดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สากลยอมรับ โดยไม่มีกฎหมายกำกับดูแล
    3. มีการจัดตั้งหน่วยรับรองระบบงานเพื่อรับรองความสามารถของหน่วยตรวจสอบและรับรองขึ้นในหลายส่วนราชการตามมติคณะรัฐมนตรี ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยไม่มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการดำเนินงานร่วมกัน เกิดความยุ่งยากในการสร้างความยอมรับในผลการตรวจสอบและรับรองจากต่างประเทศ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ และทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ

  4. ปํญหาในการดำเนินงานของ สมอ.

    จากสถานการณ์ของโลกที่ใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือที่สำคัญทางการค้า ทำให้กิจกรรมด้านการมาตรฐานมีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง และมีความสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน ส่งผลให้การดำเนินงานของ สมอ.ขยายขอบข่ายกว้างขึ้น รายละเอียดดังเอกสาร 1 ที่แนบ แต่ยังไม่ทันต่อความต้องการ อันเนื่องมาจากการปัญหาข้อจำกัดด้านบุคลากรและการสนับสนุนด้านงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

  5. ทิศทางและแนวทางเพื่อการพัฒนาระบบการมาตรฐานของประเทศ

    กิจกรรมในระบบการมาตรฐานมีความหลากหลายและมีขอบข่ายกว้างขวาง จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมาก แต่ละหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การพัฒนาระบบการมาตรฐานของประเทศไทย จึงต้องพิจารณาความจำเป็นที่แท้จริงของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจัดระบบให้เหมาะสมกับความจำเป็นของประเทศ โดยสมควรให้มีการกำหนดทิศทางและแนวทางในการพัฒนาระบบการมาตรฐานของประเทศ ดังนี้

      ระยะแรก (ภายในปีงบประมาณ 2550)

    1. เสนอออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาระบบการมาตรฐานแห่งชาติ โดยให้มีคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติ เป็นผู้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานของระบบการมาตรฐานของประเทศให้เป็นเอกภาพ ในลัษณะ Single National Network เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานต่างๆเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นการประหยัดงบประมาณ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
    2. การปรับกระบวนการในการดำเนินงานของ สมอ.

        ด้านการกำหนดมาตรฐานภายในประเทศ

      • พัฒนาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้มีขีดความสามารถในการร่วมเป็นเครือข่ายกำหนดมาตรฐานของ สมอ.
      • มอบหมายองค์กรวิชาชีพ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้ร่วมเป็นเครือข่ายในการกำหนดมาตรฐาน
      • รับมาตรฐานที่หน่วยงานในเครือข่ายกำหนดขึ้น เพื่อประกาศใช้เป็น มอก.

        ด้านการอนุญาตตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511

      • ปรับบทบาทของ สมอ.จากการเป็น Regulator & Operator ให้เป็น Regulator & Facilitator
      • ปรับกระบวนการตรวจสอบเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ที่มีความสามารถในการควบคุมตนเองโดยใช้ระบบ Self-declaration เข้ามาช่วย

สถิติผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ เริ่มนับ 10 พ.ค. 2565